ลัดเลาะวัดชมภูเวก

ลัดเลาะวัดชมภูเวก

ลัดเลาะวัดชมภูเวก
ชมภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่สวยงามที่สุดในโลก 

บางครั้งการหาความรื่นรมย์ให้กับชีวิตก็เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว ที่เรานึกไม่ถึง ไม่จำเป็นต้องวางแผน หรือไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหนไกล วันก่อนกลุ่มเพื่อนอาวุโสเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษของเพื่อนอาวุโสที่จากไป ณ วัดชมภูเวก ย่านสนามบินน้ำ นนทบุรี หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ และด้วยความไม่เร่งรีบ กลุ่มเพื่อนอาวุโส ได้เดินดูรอบๆ บริเวณวัด และก็ได้ค้นพบกับเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ใกล้ๆ ตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น และคุณค่าของโบราณสถานที่มีฝังรากลึก ณ สถานที่แห่งนี้นานนับศตวรรษ 

วัดชมภูเวกเป็นที่รู้จักของจังหวัดนนทบุรี ว่ากันว่าสร้างขึ้นโดยชาวมอญที่ลี้ภัยจากพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประมาณพ.ศ.2300 ต่อมากว่าร้อยปีพระสงฆ์จากเมืองมอญได้สร้างพระมุเตา (เจดีย์แบบมอญ) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่นำมาจากบ้านเกิดของตนและเป็นที่สักการบูชา มีการสันนิษฐานว่าได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย ชื่อวัดชมภูเวกหมายถึงขอสรรเสริญเนินสูงที่มีความวิเวก (เงียบสงบ) 


อุโบสถหลังเก่า ถือเป็นจุดเด่นของวัดชมภูเวกแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังพระธาตุมุเตา ขนาดกว้าง 5.35 เมตร ยาว 12.80 เมตร ตามแนวคติมอญแบบมหาอุต ประตูเข้าออกด้านหน้าทางเดียว (แบบวิลันดา) หน้าบันเป็นลายปูนปั้นตั้งแต่ชายคาขึ้นไปจนถึงสันหลังคา บนยอดหน้าบันปั้นรูปเทพพนมแทนช่อฟ้าใบระกา หน้าบันซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง เป็นลวดลายปูนปั้นซุ้มเถาว์เครือวัลย์ดอกพุดตาน ประดับด้วยถ้วยเครื่องลายครามและเบญจรงค์ ขณะนี้ได้ถอดถอนสถานภาพจากอุโบสถเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.2520


ภายในพระอุโบสถทรงมหาอุด ประดิษฐานพระประธาน ที่เปิดให้สาธุชนได้สักการะ บนผนังทั้งสี่ด้านมีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวตามแบบอยุธยาตอนกลางฝีมือช่างสกุลนนทบุรีในยุคนั้น แสดงเรื่องราวทศชาติชาดกและพุทธประวัติ


จุดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถคือ รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมในท่วงท่าที่อ่อนช้อยงดงามอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดแหลม ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งของเมืองไทย 


จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถฝีมือสกุลช่างนนทบุรีของวัดชมภูเวก ได้รับการบูรณะสร้างเสริมสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 ที่ถือได้ว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์มากที่สุดที่หนึ่งของไทย  


ด้านหลังอุโบสถหลังเก่าและวิหาร มีมณฑปพระพุทธบาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรือนยอดรูปปราสาทตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือทำเป็นบันไดนาค ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทศิลา 


บานประตูทั้ง 4 ด้านของมณฑปพระพุทธบาททำด้วยแผ่นไม้ขนาดใหญ่ จำหลักเรื่องราวในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ กากี และตำนานสงกรานต์ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทศิลาสมัยสุโขทัย ครอบไว้ด้วยบุษบกสมัยอยุธยาที่สวยงาม


ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่ามีกลุ่มเจดีย์ พระธาตุมุเตา ที่สร้างตามแบบคติความเชื่อของชาวมอญ เดิมสร้างไม่ใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชา ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2460 สมัยรัชกาลที่ 6 พระอธิการอินทร์เป็จเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์มอญชื่อพระครูลัยนำคณะสงฆ์มอญจากเมืองมอญร่วมกับคณะสงฆ์ไทยเชื้อสายมอญและชาวบ้านทำการบูรณะเพิ่มเติมโดยสร้างให้สูงใหญ่ครอบองค์เดิม พระมุเตาองค์ใหม๋สร้างบนฐานสี่เหลี่ยมบัวคว่ำบัวหงาย ขนาด 10 x 10 เมตร ฐานสูง 1.5 เมตร องค์พระธาตุสร้างแบบแปดเหลี่ยม ย่อส่วนลด 3 ชั้น ความสูงจากพื้น 15 เมตร มีพระมุเตาบริวาร 4 มุม ด้านหลังสร้างเจดีย์ใหม่ 2 องค์ เพื่อบรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส


ก่อนกลับกลุ่มเพื่อนอาวุโสได้ถือโอกาสเข้าสักการะ ศาลท่านพ่อปู่ศรีชมภู ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัดชมภูเวก เพื่อกราบขอพร ศาลท่านพ่อปู่ศรีชมภู เป็นสถานที่สถิตของดวงวิญญาณท่านพ่อปู่ศรีชมภู ที่คอยดูแลรักษาวัดแห่งนี้ 

ในอดีตท่านเป็นผู้นำพี่น้องชาวมอญ ทำสงครามกับพม่า ฆ่าฟันพม่ามานับไม่ถ้วน  ท่านอพยพเข้ามาเมื่อครั้งกรุงหงสาวดีเสียแก่พม่า  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราวปี พ.ศ. ๒๒๐๖ ไดก้อพยพมาอยู่ที่นี้และได้สร้างวัดขึ้น ท่านพ่อปู่ศรีชมภูเมื่อสร้างชุมชนมอญ ให้อยู่กันพอสุขสบายท่านก็ยังได้รวบรวมมอญที่หนุ่มฉกรรจ์ ไปช่วยกองทัพไทยรบกับพม่าอีกหลายครั้ง   


ถ้าเพื่อนอาวุโสท่านใด มีโอกาสผ่านมาแถวสนามบินน้ำ นนทบุรี อย่าลืมลองแวะไปที่วัดชมภูเวก อีกหนึ่งโบราณสถานที่เปี่ยมคุณค่าทั้งด้านความงดงามและความอิ่มเอมทางใจ 

อ่านเรื่องสัพเพเหระอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก "เพื่อนอาวุโสhttps://www.facebook.com/seniorsfriendship